Posted by: สิงห์ขาว | มีนาคม 1, 2011

ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูปลานหินโค้ง ๕

ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูปลานหินโค้ง   ทุกข์ และการดับทุกข์

           หลวงพ่อพุทธทาส ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ปริศนาธรรมไว้ว่า “…เป็นการเอาความคิดฉลาดๆ ของคนโบราณมาใช้ศึกษาได้โดยง่าย  ที่เราไม่ต้องคิดมาเอง มันเรียนลัด  สะสมสติปัญญาอย่างลัด ที่เราคิดเองไม่มีวันจะทำได้  ตายสิบหนมันก็ไม่หมด เพราะไม่สามารถเท่าที่เขาได้เคยคิดไว้แล้ว….”

            พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้น แสดงลักษณะปางทรงแสดงธรรม “วิตรรกมุทรา” โดย จีบพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) เป็นรูปวงกลม ซึ่งหมายถึง สุญญตา หรือ ธรรมจักร คือ การแสดงธรรม

            พระหัตถ์ซ้าย ยกขึ้นระดับพระอุระ (อก) ปลายนิ้วพระหัตถ์ตั้งขึ้น พระดัชนีข้างขวาชี้มาบรรจบกับพระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) ข้างซ้าย แสดงเบญจขันธ์ (ขันธ์ห้า) รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

             “สุญฺญ” แปลว่า “ว่าง” สุญญตา “ความว่างจากตน” ซึ่งหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ได้อธิบายไว้โดยย่อดังนี้
           พุทธศาสนา มุ่งหมายที่จะให้คนทั้งหลาย ขจัดความทุกข์ ให้หมดไปจากคน ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้ คืออยู่ได้ท่ามกลางของทุกข์ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะอาศัยความรู้ และการ ปฏิบัติในเรื่องสุญญตา หรือ ความว่างจากตัวตน ว่างจากความยึดถือว่าเป็น “ตัวเรา- ของเรา”
          อุปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ เช่น ยึดมั่นในเบญจขันธ์ คือร่างกายและ จิตใจ รวมกันว่าเป็น “ตัวตน” และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ถูกใจ อันมาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็น “ของตน” หรือที่ละเอียดลงไปกว่านั้น ก็ยึดถือจิตส่วนหนึ่งว่าเป็น “ตัวเรา” แล้วยึดถือเอา รูปร่างกาย ความรู้สึก ความจำ และความนึกคิด สี่อย่างนี้ว่าเป็น “ของเรา”
          พุทธภาษิตมีอยู่ว่า “เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน นั่นแหละเป็นตัวทุกข์”
          ฉะนั้น คนที่มีอุปาทานยึดมั่นว่า “ตัวเรา” ว่า “ของเรา” จึงมีเบญจขันธ์ที่เป็นทุกข์ คือแสดงอาการที่ทนได้ยากแก่บุคคลนั้น และแสดงอาการที่น่าเกลียด น่าเอือมระอา
          ส่วนเบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้น หาเป็นทุกข์ไม่
          ฉะนั้น คำว่า บริสุทธิ์ หรือ หลุดพ้น จึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า “ตัวเรา” ว่า “ของเรา” คือ “ดับเย็นอยู่ในโลกนี้” หรือ “นิพพานอยู่ในโลกนี้”
          ถ้าเป็นบุคคลก็เป็นบุคคลที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้
          ถ้าเป็นนิพพาน ก็เป็นที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้
          ถ้าแปดเปื้อนไม่ได้เลย จนเป็นการเด็ดขาด และถาวร ก็เรียกว่า เป็นผู้บรรลุพระ นิพพาน เป็นพระอรหันต์,
         เพียงการแปดเปื้อนที่น้อยลงมา ก็เป็นการบรรลุพระนิพพาน ในขั้นที่เป็น พระอริยบุคคล รองๆ ลงมา
         พระองค์ทรงเสนอวิธีการดับทุกข์ ก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ในการเปิดเผยธรรมะแก่โลก
วิธีดับทุกข์ : มรรค ๘
         วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับความดับไม่เหลือแห่ง “อัตตา” “ตัวเรา-ของเรา” ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ หรือพระนิพพาน นั้น ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า “มรรค” (แปลว่าทาง) หรือ “พรหมจรรย์” ศาสนา และ ธรรมเป็นตัวทาง
          พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาแสดงนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน รู้เฉพาะด้วยตนเอง เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา.
          จงดำเนินในมัชฌิมาปฏิปทา ก็จะเว้นที่สุดโต่ง ๒ อย่าง : คือกามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค แล้วจึงตรัสเรื่องอริยสัจจ์.
          อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เป็นอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าชี้ “ความเกิด” เป็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือ ความโลภโกรธหลง
          ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทรงชี้ไปยังความดับไม่เหลือแห่งโลภโกรธหลง
          วิธีปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ กล่าวโดยย่อคือไตรสิกขา
ข้อ ๓-๔-๕ เป็น ศีล ระมัดระวัง (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
ข้อ ๖-๗-๘ เป็น สมาธิ ตั้งใจ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ข้อ ๑-๒ เป็น ปัญญา ใคร่ครวญ (ไม่ประมาท) (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)
           ศีลคือ เจตนาที่จะได้ผลจากการกระทำนั้น,
           สมาธิคือ การกระทำลงไปจริง ๆ
           ปัญญาคือ รู้เรื่องที่ควรรู้ เกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ,
          ศีลนั้นคือเจตนาที่จะดับทุกข์ เป็นเจตนาที่จะละ ละแล้วก็ดับทุกข์; ทำการดับโดยทุ่มเทกำลังกายกำลังจิต คือสมาธิ. แต่เราจะต้องรู้เรื่องที่เราควรจะรู้ คือมีปัญญาเสียก่อน แล้วจึงมีเจตนาที่จะกระทำ, แล้วก็กระทำลงไปก็จะเป็นสมาธิ แล้วก็ครบสมบูรณ์ แล้วก็ได้ผล, มีหลักว่า ปัญญา (๑-๒) ศีล (๓-๔-๕) สมาธิ (๖-๗-๘).
          ดังนั้น องค์ที่สำคัญที่สุด คือสัมมาทิฏฐิ เพราะการเป็นอยู่อย่างถูกต้องตามตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ย่อมมีผลทำให้อวิชชาเกิดไม่ได้ หรือดับไปอยู่ตลอดเวลา ความถูกต้องอย่างอื่นๆ ก็เกิดตามขึ้นมาได้โดยง่าย
          เช่น เมื่อเวลาที่อารมณ์กระทบ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และสัมผัสทางใจ ก็จงทำให้อารมณ์เหล่านั้นไม่ปรุงเป็นความรู้สึกสุขทุกข์ขึ้นมาได้
          หรือถ้าปรุงเป็นสุขทุกข์ขึ้นมาได้เสียแล้ว ก็ต้องไม่ให้ปรุงเป็นความอยากขึ้นมาได้ คือให้มันหยุดเสียเพียงแค่ความรู้สึกที่เป็นสุขทุกข์นั่นเอง
          เมื่อความอยากเกิดขึ้นไม่ได้ การยึดความเป็นนั่นเป็นนี่ และการเกิดความรู้สึกว่าเป็น “ตัวตน” ก็เกิดขึ้นไม่ได้
          แต่การที่จะทำให้เวทนาไม่ปรุงตัณหานั้น ก็ต้องอาศัยวิชชาหรือสัมมาทิฏฐิ
          “นิพพาน” จึงมิได้หมายถึงความตาย หรือรอเอาผลหลังจากการตายแล้ว
          แต่หมายความว่ายังมีชีวิตอยู่ในชาตินี้ โดยทำให้ดับเย็นลงไปด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น
          ถ้าเราศึกษา เข้าใจ และ ปฏิบัติในเรื่องสุญญตา จึงจะไม่เป็นผู้เห็นผิด คิดผิด ทำผิดแต่ประการใดได้เลย แล้วสังคมที่ประกอบอยู่ด้วยคนเช่นนี้ ก็จะมีแต่ความสงบสุข ปกครองง่าย ไม่มีปัญหายุ่งยากอันใด ให้สะสางอย่างลำบากมากมายเหมือนในปัจจุบันนี้.

สาธุ
ขอขอบคุณ    ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ , ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ

ใส่ความเห็น

หมวดหมู่