Posted by: สิงห์ขาว | มิถุนายน 4, 2008

ประวัติพระพรหมมังคลาจารย์

 

หลวงพ่อปัญญานันทะ

ชีวประวัติ
พระพรหมมังคลาจารย์
( ปัญญานันทภิกขุ )

  • พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เดิมชื่อ ปั่น นามสกุล เสน่ห์เจริญ เกิดเมื่อวันวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ที่ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรของนายวัน-นางคล้าย เสน่ห์เจริญ มีพี่ชาย ๑ คน พี่สาว ๒ คน และน้องสาว ๑ คน

  • วัยเด็ก เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง จากนั้นย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง จนจบชั้น ม.๓ ในสมัยนั้น แล้วไม่ได้ศึกษาต่อเพราะมีอุปสรรคทางบ้าน บิดาป่วย ต้องลาออกเพื่อช่วยเหลือครอบครัว

  • วัยหนุ่ม ติดตามหลวงลุงไปประเทศมาเลเซีย แล้วกลับมาทำงานเหมืองแร่และสวนยางที่ภูเก็ต

  • อายุ ๑๘ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอุปนันทาราม ตำบลเขานิเวศน์ จังหวัดระนอง ได้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประชาบาล เงินเดือนๆ ละ ๒๕ บาท และได้เรียนนักธรรมไปด้วย

  • สอบนักธรรมตรีได้ที่ ๑ ทั้งมณฑลภูเก็ต หัวข้อกระทู้ธรรมในการสอบครั้งนั้น คือ “น สิยา โลกวฑฺฒโน-ไม่ควรเป็นคนรกโลก”

  • อายุ ๒๐ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดนางลาด ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง โดยมี พระครูจรูญกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ปทุมุตตโร”  แปลว่า ดอกบัวประเสริฐ หรือ ผู้ประเสริฐเหมือนดอกบัว

  • เทศน์ครั้งแรกที่วัดปากนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช

  • ร่วมธุดงค์ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่ประเทศพม่ากับพระภิกษุชาวอิตาเลี่ยนชื่อ “พระโลกนาถ”

  • ไปจำพรรษาที่สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาส (พระธรรมโกศาจารย์) ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) และท่าน บ.ช.เขมาภิรัต (พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็น “สามสหายธรรม” ร่วมงานเผยแพร่พระพุทธศาสนากันมาตั้งแต่บัดนั้น

  • ศึกษาภาษาบาลีที่วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร จนสอบได้ประโยค ๔ แล้วเกิดสงคราม มหาเอเซียบูรพา จึงไม่ได้เรียนต่อประโยค ๕

  • ไปจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๔๙๒ เริ่มเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วยการปาฐกถาธรรม โดยสร้างโรงมุงใบตองตึงขึ้นในที่ของชาวบ้าน เทศน์ทุกวันอาทิตย์และวันพระ

  • ออกเทศน์ตามหมู่บ้านโดยรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงและเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ชาวเหนือ จนมีชื่อขึ้นที่เชียงใหม่ในนาม “ภิกขุ ปัญญานันทะ”  โดยมีผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ เจ้าชื่น สิโรรส ท่านเผยแพร่ธรรมะอยู่ที่เชียงใหม่ โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดอุโมงค์ นานถึง ๑๑ พรรษา (พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๒)

  • เดินทางไปเผยแพร่ธรรมยังทวีปยุโรป และร่วมประชุมกับขบวนการศีลธรรมโลก (M.R.A.) ที่เมืองโคช์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

  • ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระปัญญานันทมุนี” เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๙

  • กรมชลประทานอาราธนานิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

  • ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๓ – ทำพิธีเปิดวัด อัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐานบนแท่นใน พระอุโบสถ และเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีประกาศแต่งตั้ง “พระปัญญานันทมุนี” เป็นเจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์

  • เริ่มปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนาให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสติปัญญา ตามหลักการที่ว่า “เป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด และได้ประโยชน์”

  • ๓ สิงหา ๒๕๐๓ แสดงพระธรรมเทศนา ถวายแด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสงวาลย์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโรฐาน

  • ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัฌาย์ และได้บวช ม.ล.ชอบ อิศรศักดิ์ เป็นคนแรก เมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๖

  • ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๒ -เริ่มเปิดสอน พุทธศาสนาวันอาทิตย์แก่เยาวชน โดยอาศัยสถานที่ของโรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๗ เมื่ออาคารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์สร้างเสร็จแล้ว จึงได้ย้ายมาเรียนมาสอนกันภายใน วัดชลประทานรังสฤษฏ์

  • ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระราชนันทมุนี” เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๔
    ได้แสดงธรรมเทศนาถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๑๘ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์

  • ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๘ -ได้แสดงพระธรรมเทศนา ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชนีนาถ, องคมนตรี และรัฐมนตรีทุกท่าน ในพระราชพิธี พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

  • ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” เป็นเกียรติในฐานะพระภิกษุผู้เผยแพร่ธรรมะยอดเยี่ยมประจำปี ๒๕๒๐ จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

  • ได้รับรางวัล “นักพูดดีเด่น” ประจำปี ๒๕๒๐ ประเภทเผยแพร่ธรรม จากสมาคมฝึกการพูด แห่งประเทศไทย เมื่อ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๑

  • เริ่มแสดงปาฐกถาธรรม ทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน เวลา ๘.๐๐ – ๘.๓๐ น. สถานีวิทยุกระจายเสียง แห่งประเทศไทย ถ่ายทอดทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๒๑

  • ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาจุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๒๔

  • เริ่มโครงการ “พระธรรมทายาท” อบรมพระภิกษุให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมะที่ดี เป็น “ธรรมทายาท” มิใช่ “อามิสทายาท” ของพระบรมศาสดา

  • ได้รับถวายปริญญาสังคมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๐

  • ได้รับปริญญาคุรุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทรวิโรฒ เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๒

  • และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาทิ จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์ ฯลฯ.

  • ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระธรรมโกศาจารย์” เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๗

  • เป็นเจ้าคณะภาค ๑๘ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐  และรับตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๘ เมื่อปี ๒๕๔๒

  • เป็นประธานสร้างตึก ๘๐ ปี ปัญญานันทะ โรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อปี๒๕๓๓

  • เป็นประธานอำนวยการก่อตั้งศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เมื่อปี ๒๕๓๒

  • เป็นองค์อุปถัมภ์และสร้างวัดปัญญานันทาราม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อปี ๒๕๓๗

  • เป็นประธานซื้อที่ดิน ๑๒๕ ไร่ และสร้างวัดให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี ๒๕๔๗

  • ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระพรหมมังคลจารย์” เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

  • ได้รับยกย่องเชิดชู ในฐานะ “ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๐” ผู้มีผลงานดีเด่นคนแรกของประเทศไทย

  • หลวงพ่อมรณภาพวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๐  ด้วยอาการปอดอักเสบและไตวาย   ที่โรงพยาบาลศิริราช   สิริรวมอายุ ๙๖ ปี

  • คลิกชม ๙๖ ปี ชีวิตเพื่องาน งานเพื่อธรรมะ หลวงพ่อปัญญานันทะ ได้ที่นี่

  • ใส่ความเห็น

    หมวดหมู่